สธ. ชี้ภัย "เมนูคางคก" มีพิษอันตราย แม้ปรุงสุกก็ไม่ปลอดภัย เพราะความร้อนทำลายพิษไม่ได้

by kadocom @4-2-51 10.52 ( IP : 202...21 ) | Tags : มุมวิชาการ

กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่านำคางคกมาบริโภคอย่างเด็ดขาด ชี้เต็มไปด้วยพิษอันตราย แม้ปรุงสุกก็ตาม เพราะความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ โดยพิษคางคกมีสารกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หากนำมาแกล้มกับเหล้า-เบียร์ ทำให้ช็อกและเสียชีวิตเร็วขึ้น ประชาชนอย่าริลองกินอย่างเด็ดขาด ชี้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าในคางคกมีตัวยารักษาโรคตามที่คนไทยบางส่วนมีความเชื่อ

กรณีที่มีข่าวหนุ่มอายุ 20 ปี รับจ้างเฝ้าสวนยาง ที่บ้านผาหวาย หมู่ 3 ต.ปวนพุ อ.หนองหิน จ.เลย จับคางคกมาถลกหนังย่างไฟ และรีดไข่ทำห่อหมกเป็นเมนูสูตรพิสดารแกล้มเหล้า-เบียร์ หลังกินไม่นานก็มีอาเจียน ชักตาตั้ง ญาติให้รีบไปพบแพทย์ยังดื้อดึงไม่ยอมไป รุ่งเช้ากลายเป็นศพ เมื่อคืนวันที่ 31 มกราคม 2551 นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การนำคางคกมาทำเป็นอาหารแกล้มเหล้า-เบียร์ เป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก และมีรายงานคนเสียชีวิตเกือบทุกปี โดยที่ตัวของคางคกนั้นจะมีต่อมพิษ และพิษคางคกจะมีลักษณะเป็นเมือกสีขาว ชาวบ้านเรียกว่า ยางคางคก นอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของคางคก ได้แก่ ผิวหนัง เลือด เครื่องใน และไข่ของคางคก ก็มีพิษด้วย เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารจะอันตรายมาก เพราะสารพิษดังกล่าว จะกระตุ้นการทำงานของหัวใจ โดยเพิ่มอัตราการเต้นและแรงบีบของหัวใจ การเสียชีวิตของหนุ่มรายนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับพิษทั้งหมดในตัวคางคก จากการกินคางคกย่าง และห่อหมกไข่คางคก

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า การกินคางคกแม้ว่าจะปรุงสุกแล้วก็ตาม ยังมีอันตรายมาก เนื่องจากพิษคางคกมีความทนทานต่อความร้อนสูง ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ จึงขอเตือนประชาชน อย่าริลองนำคางคกมาปรุงอาหารเด็ดขาด ที่น่าห่วงพบว่ายังมีคนไทยบางส่วน ยังมีความเชื่อว่า กินคางคกแล้วมีกำลังวังชาและรักษาโรคได้ เป็นความเชื่อที่ผิดและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมาก เพราะในทางหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่เคยมีการค้นพบใดๆเลยว่าในคางคกมีตัวยาแก้หรือรักษาโรคอะไรได้

ทั้งนี้คางคกแต่ละตัวจะมีต่อมเก็บและขับสารพิษ อยู่ที่บริเวณเหนือตา 1 คู่ เรียกว่า ต่อมพาโรติด พิษมีลักษณะเป็นน้ำเมือกสีขาวคล้ายน้ำนม โดยสารพิษที่พบมีหลายตัว เช่น บูฟากิน บูโฟท็อกซิน และบูโฟเทนนิน ซึ่งสารกลุ่มนี้มีฤทธิ์หลอนประสาท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน มักจะพบในสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข มักจะได้รับพิษจากคางคก จากการเลีย สัมผัส หรือคาบคางคกเล่นอย่างใกล้ชิด สัตว์จะมีอาการน้ำลายไหลมาก กระสับกระส่าย หายใจหอบ ตื่นเต้น ถ้าได้รับพิษมากจะหอบ ร้องหรือหอน ตัวร้อน ชัก และอาจเสียชีวิตได้หากกินคางคกเข้าไปหมดทั้งตัว


ที่มา  http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprgnew/include/adminhotnew/showhotnew.php?idHotnew=12886

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล