มหัศจรรย์ชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด( คุณสยาม มุสิกไชย)

by Wisut @30-8-48 13.35 ( IP : 203...33 ) | Tags : สาระน่ารู้

มหัศจรรย์ชุมชนแก้ไขปัญหายาเสพติด สยาม  มุสิกะไชย

เมื่อกล่าวถึงปัญหายาเสพติดมุมมองหนึ่ง ที่อยากจะเสนอให้เห็นว่า ปัญหายาเสพติดที่มีผู้ค้า ผู้ขาย  และผู้เดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวล้วนแต่มีความสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่  ปัญหายาเสพติด

เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม  ที่สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของบุคคล  ครอบครัว  และการอยู่ร่วมกันในชุมชนสังคม  เมื่อติดตามลงไปในปัญหายาเสพติดพบว่า  ยังมีปัญหาอีกหลายปัญหาเกี่ยวเนื่องกัน อาทิปัญหาการศึกษาต่ำ  การว่างงาน การแตกร้าวของครอบครัว  การไม่มีเวลาดูแลลูกหลานของผู้ปกครอง  การถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ความต้องการความยอมรับจากกลุ่มเพื่อน  การอาศัยอยู่ในแหล่งของปัญหายาเสพติด  ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กัน และนำมาซึ่งความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจ  และหาทางออกได้ยาก  ชีวิตของคนจำนวนมากที่ไม่มีที่พึ่งจึงใช้การอยู่กับปัญหา โดยพึ่งยาเสพติดไม่ว่าจะเป็นผู้ขาย  หรือผู้เสพ  และนั้นคือ  การที่มีคนจำนวนไม่น้อยยอมที่จะกระทำผิดกฎหมายด้วยการค้า การเสพยาเสพติด  ผลของปัญหาจึงกระทบอย่างรุนแรงต่อการเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป  ความรู้สึกไม่ปลอดภัย  กลัวลูกหลานติดยา  ด้วยความเป็นอยู่เช่นนี้คือความจำเป็นที่เราต้องเห็นและตระหนักในปัญหาร่วมกัน การรวมตัวของคนตัวเล็ก ๆ จึงเกิดขึ้นในแต่ละชุมชนที่พยายามแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยความสำนึกในการเห็นปัญหาร่วมกันแล้วร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ  ชุมชนจึงสามารถจัดการตนเองได้  ด้วยวิธีการที่ร่วมกันแก้ไขอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตที่ยอมรับกันในชุมชน ทำให้ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ด้วยความเข้มแข็ง  ด้วยการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  เชื่อมโยงกับความเข้มแข็งด้านอื่น ๆ ของชุมชน  ในองค์ประกอบและกระบวนการของชุมชนเพื่อดำเนินงานให้ตัวชุมชนเองเกิดความพอใจอันเป็นตัวชี้วัดที่ชุมชนรับได้  คือการที่ชุมชนเองแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ตามที่ตัวชุมชนเองรับรู้  โดยรวมแล้วองค์ประกอบและการดำเนินงานตรงนี้เกิดจากกระบวนการคิดของชุมชนเองที่ว่าจะเผชิญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างไร  การตระหนักในปัญหาร่วมกันจึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหา นั้นคือ 1.  จิตสำนึกชุมชน  ที่เกิดจากคนในชุมชนที่เห็นปัญหาร่วมกัน อยากที่จะแก้ไขปัญหาที่ตน เองกำลังประสบอยู่  นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนที่แก้ไขปัญหายาเสพติดได้แล้ว  แต่หลายชุมชนส่วนมากยังไม่เกิดหรือกำลังทำอยู่คงต้องศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่จิตสำนึกชุมชนให้ได้  ซึ่งมีองค์ประกอบที่สนับสนุนให้จิตสำนึกชุมชนเกิดขึ้นได้แก่ 1.  การปลูกฝังอุดมการณ์รักบ้านเกิด 2.  การสร้างคน 3.  การใช้วัฒนธรรมประเพณีช่วยหนุนเสริม 4.  การทำแผนแม่บทของชุมชนเอง
5.  การให้ความรู้ แลกเปลี่ยนกันในชุมชน
2  ผู้นำมุ่งมั่น  การดำเนินงานร่วมกันของคนในชุมชนจำเป็นต้องมีผู้นำ  ผู้นำเกิดขึ้นเองตาม ธรรมชาติของการเผชิญกับปัญหา  อาจจะเป็นผู้นำตามธรรมชาติหรือโดยระบบและอาจมีหลายคนก็ไม่แปลก  แต่พบว่าในตัวของผู้นำจะมีลักษณะของการประสานงานได้  ดึงครอบครัวมามีส่วนร่วมได้  ได้รับการยอมรับ มีความเชื้อถือจากสมาชิกในชุมชน  เป็นผู้สร้างพลังชุมชนให้สมาชิกเห็นว่าเมื่อชุมชนมีพลัง ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก  นอกจากนี้พบว่าตัวผู้นำจะเป็นผู้รู้จักประเมินตนเองอยู่เสมอ  สร้างอัตลักษณ์ในตนให้สมาชิกเห็นเป็นแบบอย่าง  จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชม แล้วประสานกับชุมชนข้างเคียงเป็นเครืองข่ายของการทำงานร่วมกันที่ยั่งยืนได้ 3.  มาตรการหยุดยั่งปัญหายาเสพติด  สิ่งนี้คือการปฏิบัติของชุมชนที่ร่วมกันคิดแก้ไข ปัญหายาเสพติด รูปแบบจึงเกิดขึ้นไม่เหมือนกันในแต่ละชุมชน  ไม่มีสูตรสำเร็จว่าวิธีการแบบหนึ่งจะนำไปใช้ได้ผลสำเร็จในอีกชุมชนหนึ่ง  แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ ชุมชนคือการมีส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาในชุมชน  อันเป็นองค์ความรู้ภาคประชาชนมาตรการหยุดยั่งที่พบว่าใช้ได้ผลดี ได้แก่ 1.  การให้อภัยและช่วยเหลือ เพราะสำนึกว่าปัญหาของคนหนึ่งคนในชุมชนคือปัญหา ของชุมชน 2.  ไม่ใช้ความรุนแรงแต่ใช้ความ เข้มแข็งเพราะคนในชุมชนเป็นพี่น้องกัน เป็น เครือญาติกัน 3.  มีกิจกรรมการดูแลสุขภาพทั้งการป้องกันและดูแลเมื่อเจ็บป่วย บ้าน วัด  โรงเรียน
เป็นสถานพยาบาลใจคนในชุมชนได้ 4.  มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความเข้มแข็งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกิจ กรรมที่พบ เช่น การมีกลุ่มออมทรัพย์  การจัดเวรยาม  การประชุมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ 4.  พัฒนาเศรษฐกิจ  วิถีชีวิตชุมชนถ้าถูกกำหนดโดยชุมชนได้แล้ว การพึงตนเองได้ในความเป็นอยู่ที่พอเพียงของแต่ละครัวเรือนก็เกิดขึ้นได้ แต่พบว่าในโลกปัจจุบันการแทรกแซงจากภายนอกชุมชน ทำให้วิถีชีวิตชุมชนเปลี่ยนแปลงไป การมุ่งแต่ทำมาหากินที่เกินพอ  การหามาซึ่งวัตถุนิยมที่เกินความจำเป็นจะใช้  จึงพบเห็นได้ในครัวเรือนของแต่ละชุมชน  นั้นเป็นจุดที่บอกว่าชุมชนต้องปรับตัวเองให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชน อันเป็นที่มาของการสร้างอาชีพของชุมชนเอง และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและทุนทางสังคมที่ชุมชนมีอยู่ด้วยความเฉลี่ยวฉลาดของชุมชนเอง 5.  ภาครัฐ  ต้องเข้าใจในตนเองก่อนว่า ภาครัฐเองมีบทบาทแค่ไหน  ภาครัฐต้องแบ่งบท บาทให้ได้  ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน ชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติ  อันอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ร่วมกันคิด  ยอมรับฟัง  ร่วมปฏิบัติ  อย่างสันติยอมรับกันได้  ไม่หลอกลวง ประชาชนทำงานเต็มที่ เพราะชุมชนไม่สามารถทำงานตามลำพังได้ ต้องได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากภายนอก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะความสำคัญของภาครัฐที่กล่าวมา  ในบทบาทของภาครัฐที่สนับสนุนชุมชนได้แก่
1.  การช่วยค้นหาผู้เสพ  ผู้ติด ผู้ค้า 2.  เป็นองค์กรถ่ายแอด  แลกเปลี่ยนความรู้ 3.  สนับสนุนแผนชุมชน 4.  สนับสนุนการสร้างกองทุนชุมชน 5.  รับฟังชุมชนเพราะภาครัฐคือผู้สนับสนุน เป็นเครื่องมือให้ประชาชนใช้  ไม่ใช่ ใช้ ประชาชน องค์ประกอบและกระบวนการทำงานของชุมชนดังกล่าวคือศูนย์กลางของการทำงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามการเรียนรู้ของชุมชนอันอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดของชุมชนเอง เช่น การมองว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาของทุกคน  ทุกคนจึงต้องรับรู้และร่วมกันแก้ไขความเชื่อมั่นจากสำนึกชุมชนที่มุ่งมั่นจะทำให้คนตัวเล็ก ๆ หันหน้าเข้าหากัน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยประคับประคองคนที่เคยหลงผิดไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้เขาได้รับโอกาสเป็นคนดีคนใหม่ของสังคม และยังต้องป้องกันคนที่ยังดีอยู่ไม่ให้หลงผิดเห็นยาเสพติดเป็นที่พึ่ง  ดั่งนี้แล้วความมั่นคงยั่งยืนก็เกิดขึ้นได้ในชุมชน  เป็นชุมชนที่มหัศจรรย์แก้ไขปัญหายาเสพติดได้ด้วยเพราะเข้าถึงเข้าใจปัญหาอย่างจริงจัง  แล้วช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ปรับตนเองเท่าทันสถานการณ์    มหัศจรรย์จริง ๆ  ชุมชนจึงเข้มแข็งแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ดังที่เกิดขึ้นใน หลาย ๆ ชุมชน หลาย ๆ หมู่บ้าน ในประเทศไทยเรา

      พบกันใหม่ครั้งต่อไป ขอขอบคุณ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล