การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิง (คุณสยาม มุสิกไชย)

by Wisut @30-8-48 13.40 ( IP : 203...33 ) | Tags : สาระน่ารู้

การสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิง     ปัจจุบันพบว่าบุหรี่ได้แพร่เข้าไปถึงกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้น  และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น อีกในอนาคต    ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประชาชนของชาติ    ดังนั้น  การที่จะดำเนิน กิจกรรมใดที่จะช่วยเหลือ  ดูแลเขาเหล่านั้นเพื่อลดอันตราย  ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่  จึงควร เริ่มต้นที่เยาวชน  ก่อนอื่นคงต้องมาศึกษาถึงธรรมชาติของเด็กกับการสูบบุหรี่  โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการช่วยเหลือป้องกันเด็กให้ปลอดภัยจากบุหรี่     บุหรี่นับเป็นยาเสพติดที่ประชาชนทั่วไปมักมองข้ามถึงภัยอันตราย แต่แท้ที่จริงแล้ว บุหรี่มีโทษอย่างมหันต์ต่อผู้สูบและบุคคลข้างเคียง  และยังถูกประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1996 ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ว่าบุหรี่เป็นยาเสพติดอย่างหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทยากระตุ้นประสาท ส่วนกลาง  ขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดเทียบเท่าสุรา  โคเคน  และเฮโรอีน (ทรงเกียรติ, 2540) ซึ่งพบว่า จากการสูบบุหรี่ของประชาชนทั่วโลกส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชากรโลก  ทำให้มีคนตาย อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ปีละ 5 ล้านคน หรือตายถึงนาทีละ 9 คน  หากใน 20 ปีข้างหน้าไม่มี การดำเนินการใด ๆ  ประชากรโลกจะเสียชีวิต และพิการจากการสูบบุรี่เป็นอันดับหนึ่ง การสูบบุหรี่     สำหรับประเทศไทย  สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจในปี 2544  พบว่า ประชากรไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปี ขึ้นไปทั้งประเทศ มีประมาณ 51.3  ล้านคน  เป็นผู้สูบบุหรี่ 12.0 ล้านคน (ร้อยละ 23.4)  ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรือสูบทุกวัน 10.6 ล้านคน  (ร้อยละ 20.6)  เป็นผู้ชาย ประมาณ 10 ล้านคน  ผู้หญิง 6 แสนคน  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่สำรวจเมื่อ พ.ศ. 2542 ถึง 4 แสนคน  และกลุ่มประชากรที่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นคือ วัยรุ่น  โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง  ซึ่ง 2 ใน 3  ของผู้ที่เสพติดบุหรี่ เริ่มติดบุหรี่ก่อนอายุ 19 ปี กว่าร้อยละ 90 หรือกว่า 9 ล้านคน  ที่เสพติดบุหรี่ ขณะนี้ เสพติดก่อนอายุ 24 ปี ปรากฏว่าอายุเฉลี่ยที่เริ่มติดบุหรี่เพียงอายุ 18.5 ปีเท่านั้น    แต่อายุเฉลี่ยของผู้ที่เลิกบุหรี่ได้คือ 41.9 ปี นั้นหมายความว่าการสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุยังน้อยจะเลิกยาก  (พนิตย์, 2546)  ซึ่งสำรวจพบว่า ผู้เสพติดบุหรี่ดังกล่าวจะสูบบุหรี่เฉลี่ย 10.6 มวนต่อวัน โดยค่าใช้จ่ายของผู้สูบบุหรี่ประจำ ประมาณวันละ 11 บาทต่อคน  นั้นหมายความว่าผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะซื้อบุหรี่สูบเป็นเงินกว่า 4 พันบาทต่อปี  ดังนั้นโดยเฉลี่ยผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่ประมาณ 21.5 ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่เป็นเงินทั้งสิ้น 86,000 บาทต่อคน  กว่าจะเลิกบุหรี่สำเร็จและหากมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 10.6 ล้านคน  ในปี พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา  ประมาณการระยะเวลาที่สูบบุหรี่ 21.5 ปี  คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่ต้องใช้จ่ายให้กับสิ่งที่ทำลายสุขภาพ    ด้วยเหตุนี้การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้สูบบุหรี่ให้เกิดความตื่นตัวรับรู้และตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่จึงเป็นความจำเป็น

-2-     รู้เข้าใจภัยบุหรี่     สิ่งที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่  ติดบุหรี่คือสารนิโคติน (Nicotine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในใบยา
ที่เราเรียกชื่อต่าง ๆ กัน  เช่น บุหรี่    ซิการ์    หรือยาเส้น  นิโคตินเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ส่วนกลางและยังทำให้เกิดโรคร้าย  เช่น โรคมะเร็ง  โรคหัวใจ  โรคอัมพาต  และโรคปอด  จากการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เท่ากับเป็นการอัดสารนิโคตินเข้าสู่ปอดโดยตรง        แล้วมุ่งสู่สมองทันที ภายในระยะเวลาเพียง 8 วินามีเท่านั้น  (ทรงเกียรติ, 2540)  ทำให้นิโคติน  (Nicotine)  ออกฤทธิ์ต่อสมองได้อย่างรวดเร็ว    เด็กจึงสามารถติดบุหรี่ได้ภายในไม่กี่วัน แม้เพียงการสูบมวนแรก  โดยเด็ก ในกลุ่มสำรวจ 332  คน  ที่ลองสูบบุหรี่ครั้งแรก ๆ  ถึงร้อยละ 40 ที่มีอาการติด  บางคนสูบแค่ 2 มวนต่อสัปดาห์ก็มีอาการติดแล้ว  และในกลุ่มสำรวจถึง 2 ใน 3    การติดบุหรี่ที่เกิดขึ้นก่อนที่พวกเขาจะสูบเป็นประจำเสียอีก  แสดงให้เห็นว่าการติดบุหรี่เกิดขึ้นได้ก่อนที่ร่างกายจะไม่สามารถต้านทานฤทธิ์สารนิโคตินในบุหรี่/ทั้งนี้  เพราะสารนิโคตินที่เข้าไปในศูนย์สมองต่าง ๆ  ถูกแพร่ไปยังระบบประสาท  ที่สำคัญจะไปกระตุ้นสื่อเคมี โดปามีน (Dopamine) นอร์แอดรีนาลีน (Noradrenalin) และซีโรโตนิ(Serotonin) ให้หลั่งออกมามากไม่แตกต่างจากยาบ้า หรือโคเคน (ทรงเกียรติ, 2540)     ในบุหรี่ 1 มวลจะมีสารนิโคตินอยู่ประมาณ 1 มิลลิกรัม แม้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกทำลาย ในเวลานอนหลับระดับนิโคตินจะลดต่ำลงมาก  ครั้นพอตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า  จะมีอาการขาดยาสำแดงออกมาก    จะต้องจุดบุหรี่สูบก่อนจะทำภารกิจอย่างอื่น ดังนั้น  การสูบบุหรี่มวนแรกหลังตื่นนอนจึงทำให้กระปรี่กระเปร่าสดชื่น  คลายเครียด  มีอารมณ์ดี  แต่พอสูบมวนต่อ ๆ ไปกลับมีผลไม่ดีเท่าที่ควร เพราะร่างกายดื้อยาเสียแล้ว  สำหรับอาการขาดยานั้นคือ  ผู้สูบจะรู้สึกหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ  เกิดความหิว    กินจุกกินจิก เกิดความเศร้า    บางครั้งก็มีอาการเซ็งเกิดขึ้นด้วย    อยากแต่จะสูบบุหรี่ นอนไม่ค่อยหลับ กลายเป็นคนใจร้อน และรู้สึกสับสนในบางคราว  อาการขาดยานี้จะเริ่มต้นค่อนข้างเร็ว  แต่จะมีอาการสูงสุดหลังวันที่หนึ่งหรือวันที่สองของการหยุดเสพ    และจะมีต่อเนื่องกันไปถึงสองหรือสามสัปดาห์ที่เดียว  ซึ่งรายงานการวิจัยชิ้นหนึ่ง ถามผู้ติดยาเสพติดว่า “ยาอะไรหยุดง่ายที่สุดและยากที่สุด”  ปรากฏว่าร้อยละ 57 ของผู้ที่ตอบคำถามตอบว่าบุหรี่หยุดยากที่สุด ยากกว่ายาเสพติดชนิดอื่นทั้งสิ้น     การสูบบุหรี่ไม่ใช้ได้รับสารนิโคตินเท่านั้น  แต่ยังได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbonmonoxide)  และก๊าซพิษอย่างอื่นด้วย  ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์นี้จะทำหน้าที่ขัดขวาง ไม่ให้เม็ดเลือดในร่างกายรวมกับออกซิเจน    ซึ่งเป็นก๊าซสำคัญที่ร่างกายต้องการไปแจกจ่ายให้แก่ส่วนต่าง ๆ  ของร่างกาย มันสามารถทำให้ออกซิเจนในร่างกายลดน้อยลงถึงร้อยละ 15 ทีเดียว
ร่างกายจึงต้องทำงานทดแทนออกซิเจนที่ลดน้อยลง  โดยปอดและหัวใจจะทำงานเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นโรคหัวใจโรคปอดพิการคือหายใจติดขัด  เนื้อปอดตีบตัน นั้นเอง  แต่ก๊าซที่น่ากลัวที่สุดจากการ -3-

สูบบุหรี่คือเขม่าควันดำของทาร์ (Tar)  หรือที่ภาษาไทยแปลว่าน้ำมันดิน  เขม่าทาร์พิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในปอด  มะเร็งในปอดเป็นอันตรายมาก สามารถคร่าชีวิตคนได้ในระยะเวลา 1 ปีครึ่งเท่านั้น (ทรงเกียรติ, 2540)
    พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิง     ทั้งที่บุหรี่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพดังที่กล่าวมา  แต่จำนวนของผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้น  ร้อยละ 90 ของผู้สูบบุหรี่  เริ่มสูบบุหรี่ก่อนหรือเมื่อมีอายุ 18 ปี  ทำให้เยาวชนในปัจจุบันยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเริ่มต้นทดลองสูบบุหรี่อยู่เสมอ    ด้วยลักษณะเฉพาะของวัยรุ่นที่เป็น  วัยอยากรู้ อยากลอง  วัยของความสนุกสนาน  วัยของการต้องการการยอมรับทั้งในกลุ่มเพื่อนและในสังคม
วัยที่ต้องการแสดงออกซึ่งตัวตนอย่างเต็มที่และวัยที่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ      ร่วมกับปัจจัยแวดล้อม(สถาพร,2547) ทั้งสื่อข้ามชาติที่มาในรูปของนิตยสาร  เคเบิลทีวี สื่อจากภาพยนต์ ดาวเทียม ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุม (จรัล, 2546) อีกทั้งกลุ่มเพื่อนที่ชักจูง หรือทำแบบอย่างให้เห็นอยู่เสมอ  มีอิทธิพลสูงมากที่จะทำให้เพื่อนคนอื่น ๆ หันมาสูบบุหรี่ (Bjorkqvist,kaj;Batman,Annica; -Aman-Back, Susang, 2004)     สำหรับเด็กผู้หญิงยิ่งมีพ่อแม่ที่สูบบุหรี่ด้วยแล้ว    เด็กจะได้รับอิทธิพลและแบบอย่าง เหล่านั้น  จากพ่อแม่ทำให้กลายเป็นเด็กที่สูบบุหรี่  โดยเฉพาะแบบอย่างของแม่ที่สูบบุหรี่ให้บุตรสาวเห็น  จะยิ่งทำให้เด็กผู้หญิงสูบบุหรี่ (Mary Ann, 2003) หรือการที่เด็กวัยรุ่นผู้หญิงมีปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มใจ  เครียด  มีเวลาว่าง  ก็เป็นแรงผลักดันให้สูบบุหรี่ได้เช่นกัน (อัจราวรรณ,          ) และพบว่า 6 ตัวแปรหลักที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงได้แก่ 1. จำนวนเพื่อนสนิทที่สูบบุหรี่ 2. ความรู้สึกผูกพันต่อบิดามารดา 3. ความรู้สึกผูกพันต่อครูและโรงเรียน 4. ความยึดมั่นผูกพันต่อกิจกรรมที่สังคมยอมรับ 5. ความเชื่อในบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ของสังคม 6. ทัศนคติของวัยรุ่นหญิงต่อการสูบบุหรี่ของผู้หญิง โดยที่จำนวนเพื่อนสนิทที่สูบบุหรี่  มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงสูงที่สุด (ธิติ,2538)  ซึ่งเพื่อนจะเป็นผู้ชักชวนให้สูบ    ทั้งนี้เพราะวัยรุ่นในระยะนี้มักจะเผชิญกับความกดดัน ให้สูบบุหรี่ เพราะเด็กจะห่างจากครอบครัว และใกล้ชิดกับเพื่อนมากขึ้น  อีกทั้งมักจะมีพฤติกรรมที่ต่อต้านผู้ใหญ่      ชอบทำในสิ่งที่ท้าทาย      แรงกดดันจากเพื่อนจึงมักจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขา สูบบุหรี่  วัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่จึงมักมีเพื่อนผู้หญิงที่สูบบุหรี่  นอกจากนี้ยังมีรายงานจากศูนย์วิจัย

-4- นโยบายการศึกษา  คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พบว่าเด็กผู้หญิงที่เห็นความผอมเป็นสิ่งสำคัญ    มีแนวโน้มที่อยากจะสูบบุหรี่เป็น 4 เท่าของคนทั่วไป    และเด็กผู้หญิงที่ติดบุหรี่แล้วจะเลิกได้ยากกว่าเด็กชาย  ทั้งนี้เพราะคิดว่าตนสามารถเลิกบุหรี่ได้  แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่  ด้วยเหตุดังกล่าวมา  จึงน่าจะหันมาให้ความสำคัญในกลุ่มของผู้สูบบุหรี่ในเพศหญิงที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น  เป้าหมายการลด  ป้องกันหรือทำให้กลุ่มเด็กผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นสิ่งสำคัญ  ทั้งนี้เพราะกลุ่มเยาวชนล้วนแล้วแต่เป็นพลังสำคัญของชาติ  หากเยาวชนติดสิ่งเสพติดการพัฒนาคน พัฒนาประเทศก็หยุดชะงัก บุหรี่เป็นยาเสพติดด่านแรก  เมื่อสูบจนติดแล้วมักจะชักนำเยาวชนให้หันไปเสพยาเสพติดตัวอื่น ๆ  ต่อไป    เยาวชนที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสพยาเสพติดอื่น ๆ ได้มากกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 10 เท่า หรือมากกว่านั้น
(ทรงเกียรติ, 2540)     เมื่อเข้าใจภัยบุหรี่     เมื่อรู้ดั่งนี้แล้ว    จึงควรตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ที่ส่งผลอันร้ายแรงต่อสุขภาพ ส่วนบุคคล  ครอบครัว และการสูบเสียเงินในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล  เยาวชนของชาติที่สูบบุหรี่มีสุขภาพไม่แข็งแรง  การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามปกติ  ติดสารเสพติดอื่นตามมา  ส่งผลโดยรวมต่อประเทศชาติ  การรณรงค์เพื่อป้องกันการสูบบุหรี่  จึงควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก  ทั้งหญิง ชาย และให้ความรู้เกี่ยวกับโทษภัยของการสูบบุหรี่ควบคู่กับการเปลี่ยนความเชื่อหรือทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ด้วย แต่ก็ไม่ทอดทิ้งผู้สูบบุหรี่  โดยเฉพาะผู้ที่มีความพยายาม หรือความคิดที่เลิกสูบบุหรี่ แต่ยังทำไม่ได้ก็ขอให้ดูแลช่วยเหลือเขาเหล่านั้น  เพราะเขาเป็นบุคคลที่น่าสงสาร พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  มีพระราชดำรัสทรงห่วงใยเยาวชนของชาติที่สูบบุหรี่ไว้ตอนหนึ่งว่า “เดี่ยวนี้เด็ก ๆ มีการสูบบุหรี่มากขึ้น มากกว่าก่อนอีก  แต่ก่อนนี้เด็ก ๆ ยังไม่สูบ  แต่โดยเฉพาะผู้หญิงสูบบุหรี่มาก”  สำหรับกิจกรรมการป้องกันหรือการเลิกสูบบุหรี่  ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ  ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาการเสพติดบุหรี่ลดลง  ดังนั้นความหลากหลายของรูปแบบกิจกรรม  จึงควรมีความเหมาะสมกับบุคคลท้องถิ่น  โดยการศึกษาร่วมกันของบุคลากรสาธารณสุขหรือองค์กรอื่น ๆ    ในปัจจุบันเป็นที่น่ายินดีว่า  ได้มีการรณรงค์ป้องกันและดูแลปัญหาการสูบบุหรี่อย่างจริงจัง  สำนักงานสถิติแห่งชาติ  สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรที่สูบบุหรี่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2547 พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ประจำมีประมาณ 9.6 ล้านคน  เป็นจำนวนที่ลดลงจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2544  ที่มีผู้สูบบุหรี่ประจำ 10.6 ล้านคน  ผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ต่อ หญิง เท่ากับ 18 ต่อ 1 ซึ่งเพศชายสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 53 เหลือ ร้อยละ 37  ในขณะที่เพศหญิงลดลงจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 2.1  ซึ่งระหว่าง พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2547 จำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ที่ลดลงกว่าทีควรจะเป็นโดยใช้สมมุติฐานว่าหากไม่มีการดำเนินการควบคุมการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง อัตราการสูบบุหรี่ในปี
-5- พ.ศ. 2547 จะใกล้เคียงกับอัตราของปี พ.ศ. 2531 ซึ่งจำนวนของผู้สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2547 ควรจะ เท่ากับ 14.0 ล้านคน นั้นหมายความว่า  การรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2547 น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เท่ากับ 14.0-9.6 เท่ากับ 4.4 ล้านคน     แต่อย่างไรก็ตาม    การรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ในทุกรูปแบบ  และการปรับตัวพัฒนาการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ก็ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  เพราะความจริงก็คือ ประเทศของเรายังมีผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เป็นจำนวนมาก        โดยเฉพาะเยาวชนจึงใคร่เสนอแนวทางในการดูแล ป้องกันเยาวชนทั้งชาย หญิง ให้ปลอดภัยจากบุหรี่ตามแนวคิดของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา(CDC) ไว้ดังนี้ 1. นโยบายห้ามสูบบุหรี่ภายในโรงเรียนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนักเรียน    ครู   เจ้าหน้าที่  และบุคลากรทุกฝ่าย  รวมถึงต้องมีนโยบายไม่รับการสนับสนุนใด ๆ จากบริษัทบุหรี่ 2. สร้างความเข้าใจกับนักเรียนเกี่ยวกับปัญหาการสูบบุหรี่  และป้องกันด้วยการ จัดกิจกรรมที่ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในปัญหาการสูบบุหรี่ 3. จัดเตรียมการฝึกอบรมหรือสัมมนาที่จำเป็นให้กับครู  ซึ่งจากครูได้รับการฝึกอบรม เกี่ยวกับหลักสูตรในการป้องกันการสูบบุหรี่ ความสำเร็จของกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่จะมีมาก ยิ่งขึ้น 4. ให้พ่อแม่  และครอบครัวของนักเรียนมีส่วนร่วมในการป้องกันไม่ให้บุตรหลาน สูบบุหรี่     5.  โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ที่ลดแรงจูงใจของบุหรี่ที่มีต่อเยาวชน 6.  พยายามลดอัตราการสูบบุหรี่ให้กับนักเรียนหรือบุคลากรในโรงเรียน  อาจจะแนะนำ แหล่งในการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่  หรือโปรแกรมเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ในโรงเรียน  โรงพยาบาล หรือคลินิกอดบุหรี่ หากมีความตระหนักเห็นปัญหาร่วมกัน  มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่องร่วมกัน  ปัญหาบุหรี่ ก็แก้ไขได้  เยาวชนก็จะมีสุขภาพแข็งแรง  ยิ่งเป็นสตรีเพศด้วยแล้ว  นอกจากสุขภาพดี  ผิวพรรณจะไม่เหี่ยวแห้งเพราะพิษของบุหรี่อีกด้วย  นั้นหมายความว่าผู้หญิงจะสวยยิ่งขึ้น  ดูดีขึ้น  เพียงแค่ไม่สูบบุหรี่  ห่างไกลจากบุหรี่เพื่อคนที่คุณรัก  และตัวคุณเอง


บรรณานุกรม

ทรงเกียรติ  ปิยะกะ.  (2540).  นิโคติน สารร้ายในใบยา.  ยิ้มสู้ เรียนรู้ยาเสพติด.  สำนักพิมพ์มติชน :               กรุงเทพมหานคร ธราดล  เหมพัฒน์.  (2540).  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดยาเสพติดของวัยรุ่นหญิง จังหวัดอ่างทอง.             วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมชลประทาน).  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
            บัณฑิตวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร ธิติ  รัตนโชติ.  (2538).  วัยรุ่นหญิงกับการสูบบุหรี่ : ศึกษาเฉพาะนักเรียนหญิงในโรงเรียนอาชีว
            ศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร.  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (สังคมวิทยา).  มหาวิทยาลัย             ธรรมศาสตร์.  บัณฑิตศึกษา : กรุงเทพมหานคร พนิตย์  จิวะนันทประวัติ.  (2546).  สูบแล้วติด  ติดแล้วก็เลิกยาก. วารสารเพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบ
            บุหรี่Smart.  ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนกันยายน, มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่; กรุงเทพมหานคร ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่.  (2548).  คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง  วารสารเพื่อสร้างค่านิยมไม่
            สูบบุหรี่ Smart.  ปีที่ 6 ฉบับที่ 62 เดือนมีนาคม, มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่;
            กรุงเทพมหานคร ศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  (2546).  บุหรี่กับวัยรุ่น. http :               //www.sst.or.th/th/ sanpatiroob.php?act=detail & sanindex=65&column_id=.19/3/2548 สถาพร  จิรัตนานนท์.  (2547).  เราไม่ต้องการให้เด็กสูบบุหรี่.  สารสารเพื่อสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่               Smart.  ปีที่ 5 ฉบับที่ 50 เดือนมีนาคม, มูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่; กรุงเทพมหานคร อัจฉราวรรณ  สร้อยทอง.  (2542).  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่น.
              วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต.  (วิทยาการระบาด) มหาวิทยาลัยมหิดล.  บัณฑิตวิทยาลัย :
              กรุงเทพมหานคร Bjorkqvist, kaj ; Batman, Annica and Aman-Back, Susanna (2004) Adolescents’ USE of tobacco
              and alcohol : correlations with habits of parents and friends Volume 95, Issue 2, P 418-
              420. Mary Ann Faucher, Factors that influence smoking in adolescent girls.  Journal of Midwifery and
              Women’ s Health. Volume 48, Issue 3, May-June 2003, P 199-205

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล