การจัดการกับอาการอยากยา

by แป้งร่ำ @7-3-54 15.35 ( IP : 203...34 )

ในปัจจุบันเรายังพบเห็นผู้ติดยาที่ตกอยู่ในวังวนของยาเสพติด ปัญหาการเสพติดซ้ำ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผู้ติดยาเสพติดที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่พร้อมที่จะเลิก เกิดอาการถอนพิษยา อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหายาเสพติด ว่างงาน มีปัญหาครอบครัว คิดถึงรสชาติของยาเสพติด และเกิดอาการอยากยาเสพติด

อาการอยากยาเสพติด หรืออาการหิวยาเสพติด เป็นอาการที่เกิดกับผู้ติดยาเสพติดหลังหยุดเสพยาเสพติดทุกราย ทั้งในผู้ที่ไม่คิดจะเลิก ผู้ที่มีความตั้งใจจะเลิก และผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการหยุดหรือการเลิกยาเสพติดซึ่งเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยมักเกิดขึ้น เป็นครั้งคราว หรือเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้จะหยุดยาเสพติดเป็นระยะเวลาแรมเดือนแล้วก็ตาม ซึ่งอาการนี้เป็นภาวะที่ถูกกระตุ้นจากความรู้สึกภายใน หรือถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณเล็กๆน้อยๆ จากสิ่งแวดล้อม โดยจะมีผลต่อความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของผู้ใช้ยาเสพติดเป็นอย่างมาก และอาการจะมีไปเรื่อยๆ กว่าจะหาย อาจใช้ระยะเวลานานนับปี เพราะธรรมชาติต้องใช้เวลาในการปรับระบบสื่อเคมีในสมองที่เสียหายในขณะที่เสพยาให้คืนสู่สภาพปกติเมื่อหยุดเสพ

อาการขาดยาและอาการอยากยา มีความแตกต่างกัน  อาการขาดยาเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณยาเสพติดที่เคยใช้ลดลง ซึ่งจะมีอาการแสดงทั้งร่างกายและจิตใจตามชนิดของยาเสพติด เช่น ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดท้อง เพลีย นอนไม่หลับ  เครียด หงุดหงิด ถ่ายเหลว ชัก คลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจลงแดง เป็นต้น แต่อาการอยากยาเป็นความรู้สึกหิวยาเสพติด โดยอาจเป็นความรู้สึกอยากยาในสมองแสดงอาการออกมาเป็นอาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ

อาการอยากยาที่เกิดขึ้น

ด้านร่างกาย  มีอาการกระสับกระส่าย  ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วแรง ปวดท้อง จาม มือเย็น น้ำมูกไหล ร้อนใน ปวดฟัน ปวดหัว มีความรู้สึกไม่สุขสบายกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ  หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่าย โมโหง่าย กระวนกระวายใจ เปรี้ยวปาก  กลัว จนบางคนทนอาการไม่ได้

วิธีการจัดการกับอาการอยากยา

  1. ควบคุมจิตใจตนเองทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยต้องรู้จักอ่านใจตนเอง ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการอยากยาและหลบเลี่ยง อดทน
  2. หยุดความคิดทันทีที่เริ่มคิดถึงยาเสพติดหรือเมื่อเริ่มมีอาการอยากยา โดยวิธี การนึกถึงภาพหรือเหตุการณ์ความสุขที่ตนเองเคยได้รับให้เกิดขึ้นในใจแทนที่การคิดถึงยาเสพติด  การดีดหนังยางแรงๆและบอกตนเองว่า “ไม่” การฝึกผ่อนคลาย โดยหายใจเข้าลึกๆให้เต็มปอดและหายใจออกช้าๆจนรู้สึกผ่อนคลาย  การโทรศัพท์หาใครบางคนที่สามารถให้กำลังใจเราได้
  3. เบี่ยงเบนความรู้สึกไปสู่สิ่งอื่น  โดยเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข เกิดอาการผ่อนคลาย เช่น  ออกกำลังกาย  นั่งสมาธิ  สวดมนต์  พูดคุยกับเพื่อน  ทำกิจกรรมนันทนาการ เช่น ฟังเพลง เล่นดนตรี  ดูโทรทัศน์  หางานอดิเรกทำ
  4. บางรายใช้วิธีเข้าบำบัดรักษาซึ่งจะได้รับยารักษาตามอาการเพื่อลดความทรมานจากอาการขาดยาและจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอยากยา

ทำความเข้าใจว่าอาการอยากยาเสพติดสามารถเกิดขึ้นกับบุคคลทั้งในผู้ที่ยังไม่อยากเลิก ผู้ที่กำลังเลิก และผู้ที่หยุดเสพยาเสพติดแล้ว โดยเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเข้ามากระตุ้น หรือพบเจอสิ่งที่ทำให้หวนคิดถึงยาเสพติด แล้วเกิดความรู้สึกอยากยาเสพติดอีก โดยครอบครัวต้องเข้าใจ สังเกตอาการที่เกิดขึ้น  สอบถามถึงความรู้สึกอยากยา ไม่ตำหนิเมื่อมีอาการอยากยา ให้กำลังใจ อยู่เป็นเพื่อนในขณะที่เกิดอาการอยากยา ชื่นชมเมื่อสามารถผ่านพ้นหรือต่อสู้กับอาการอยากยาในแต่ละครั้ง หากิจกรรมให้ทำ ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ช่วยหลีกเลี่ยงหรือไม่ให้พบตัวกระตุ้น  หรือบางรายอาจต้องพาผู้ป่วยไปรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทรมานจากอาการและป้องกันการเสพยาเสพติดซ้ำต่อไป

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล