ถอดบทเรียนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยรูปแบบชุมชนบำบัด

by แป้งร่ำ @7-3-54 15.53 ( IP : 203...34 )

ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดสงขลา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยหญิง จึงได้เปิดบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยหญิงในรูปแบบผู้ป่วยใน ในปี พ.ศ. 2546 หลังจากดำเนินการไปได้ระยะเวลาหนึ่ง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ติด การบำบัดรักษาเพียงถอนพิษยามีภาวะเสี่ยงต่อการเสพซ้ำ เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทีมผู้บำบัดจึงนำรูปแบบชุมชนบำบัดมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยหญิง โดยเริ่มจากการพูดคุยถึงโครงสร้าง อบรมให้ความรู้การฟื้นฟูสรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดนำสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันมีสถิติผู้ป่วยหญิงจำนวน 264 ราย หลังการดำเนินการพบว่าบุคลากรบางคนขาดความมั่นใจในการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยการใช้กลุ่มในรูปแบบต่าง ๆ จากการประเมินความต้องการการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานพบว่า บุคลากรต้องการความรู้และทักษะในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มภารกิจบริการวิชาการจึงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงานของบุคลากรระหว่างตึกฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง

กระบวนการของ KM

การดำเนินการในการดูแลผู้ป่วยหญิงในรูปแบบชุมชนบำบัด เพื่อให้ตอบสนองยุทธศาสตร์ของศูนย์ฯ  โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้ป่วยรับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพครบกำหนดตามเกณฑ์และลดการเสพซ้ำ จึงได้ค้นหาองค์ความรู้ที่จำเป็นและตอบสนองกับความต้องการของบุคลากร โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้บุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตามความจำเป็นของหน่วยงาน โดยดำเนินการดังนี้

  • การบ่งชี้ความรู้ : การฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด
  • จัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ : จัดการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการปฏิบัติงานระหว่างตึกฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยชายและผู้ป่วยหญิง คนละ 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ มกราคม – เมษายน 2552
  • จัดเวทีให้บุคลากรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับซึ่งกันและกัน
  • ถอดบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เป็นเอกสารหรือบทความ
  • ทบทวนและวางแผนจัดทำ CPG ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหญิง

ผลการดำเนินการ

  • เกิดบรรยากาศที่ดีของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งผู้ให้และผู้รับ
  • เกิดต้นแบบ (Role model) ในการปฏิบัติงานที่บ่งถึงบุคลิกภาพของผู้บำบัด
  • เกิดความรู้ที่จะได้รวบรวมออกมาให้เป็น Explicit Knowledge ได้แก่ บุคลิกภาพของผู้บำบัด เทคนิคการให้คำปรึกษา  เทคนิคการทำกลุ่มกิจกรรมต่างๆ  การติดตามข้อมูลผู้ป่วย การนำไปใช้ประโยชน์

ด้านบุคลากร

  • เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนท่าทีของผู้ปฏิบัติในการฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด โดยต้องมีบุคลิกภาพที่มั่นคง มีจุดยืนในการปรับเปลี่ยน มีความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ยอมรับ เข้าใจและศรัทธาต่อรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด ตลอดจนเทคนิคการให้คำปรึกษาด้วยท่าทีที่เป็นกันเอง แสดงออกถึงการยอมรับผู้ป่วยอย่างไม่มีเงื่อนไข และการติดตามความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องไม่ทิ้งประเด็น กระตุ้นให้ผู้ป่วยได้คิดค้นหาตนเอง คิดทบทวนเหตุผลของการกระทำของตนเองตลอดเวลา

ด้านผู้ป่วย

  • ร้อยละของผู้ป่วยที่จำหน่ายครบกำหนดตามเกณฑ์ก่อนและหลังเปลี่ยนเป็นชุมชนบำบัดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68.75 เป็นร้อยละ 82.75
  • ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบำบัดรักษา ร้อยละ 82.11

ด้านรูปแบบการบำบัดรักษา

  • มีการนำการฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดมาปรับใช้จนเกิดรูปแบบการบำบัดผู้ป่วยหญิงที่เอกลักษณ์เฉพาะของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดสงขลา การพัฒนาต่อยอด
  • จัดทำ CPG ในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหญิงของศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดสงขลา
  • สร้างชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในองค์กรและทางอินเตอร์เน็ต
  • กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานค้นหาโอกาสในการพัฒนา หรือการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในโอกาสต่อไปของกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยในรูปแบบชุมชนบำบัด
นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล