รู้จัก "อีโบลา" ก่อนจะแตกตื่น

by kadocom @4-8-57 09.05 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x333 pixel , 50,874 bytes.

การระบาดของ "อีโบลา" ในแอฟริกาตะวันตก ที่ยังไม่มีทีท่าจะควบคุมโรคได้ นับเป็นการระบาดของอีโบลาที่ใหญ่ที่สุด นับจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยในการระบาดครั้งนี้ 779 ราย เสียชีวิต 481 ราย ใน 3 ประเทศ คือ กินี สาธารณรัฐลิเบอเรีย และสาธารณรัฐเซียร์ราลิโอน โดยการระบาดเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2557 เป็นต้นมา

        ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์

        อีโบลาเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มฟิโลไวรัส พบครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกาใกล้แม่น้ำอีโบลา จึงตั้งชื่อโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2519 และเกิดมีการระบาดมากกว่า 20 ครั้ง ในแอฟริกา สันนิฐานว่าอาจจะมีค้างคาวเป็นตัวนํา และยังพบโรคดังกล่าวในสัตว์ตระกูลลิง (nonhuman primates) ในแอฟริกา แต่ติดต่อมาสู่คนด้วยวิธีใดยังไม่ทราบแน่ชัด สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้โดยการสัมผัสเชื้อโดยตรง จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเพณี วัฒนธรรม ของชาวแอฟริกานั้น พิธีกรรมศพ โดยการสัมผัส ล้างศพ เท่ากับแพร่กระจายโรคทําให้เกิดการติดต่อและระบาดได้

        อีโบลา มีอาการคล้ายไข้เลือดออก มีการรั่วไหลของเลือดและน้ำเหลืองออกจากหลอดเลือดเหมือนไข้เลือกออก โดยมีระยะเวลาฟักตัว 2-21 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย การอักเสบของตับ ไตการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกภายใน เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 60 ปัจจุบันไม่มียาและวัคซีนจําเพาะและป้องกัน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ดูแลสุขอนามัย ความสะอาด สุขลักษณะ

        แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีประกาศในการห้ามเดินทางเข้าออกในทวีปแอฟริกา แต่หากมีความจําเป็นต้องเดินทางเข้าออกในพื้นที่การระบาด ผู้เดินทางควรสังเกตและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่ง เลือด และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และหากมีอาการเจ็บป่วยหลังจากเดินทางเข้าออกในพื้นที่ระบาด ต้องรีบพบแพทย์และแจ้งให้ทราบ เพื่อป้องกันการระบาดสู่คนใกล้ชิด

        ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ระบาดต้องมีการสวมใส่เครื่องป้องกันและปฏิบัติตามระเบียบวิธีอย่างเคร่งครัดนอกจากนี้ การรับมือและป้องกันการระบาดของเชื้อต่างๆ ที่ดีที่สุด คือ การให้องค์ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนก และรับมือต่อสู้กับโรคระบาดอย่างมีสติ

        ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/Content/25237-%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%20%22%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B2%22%20%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99.html

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล