3 วิธี ดูแลปอด

by kadocom @19-6-57 11.10 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x323 pixel , 45,201 bytes.

"มะเร็งปอด" เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบ ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ผู้ป่วยเพศหญิงก็พบสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคลุกลามแล้ว

          ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยทั่วไปพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จัด 1 ซองขึ้นไปต่อวัน หรือผู้ที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไป จะมีอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป 7-10 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ 10-20 ปี เสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งปอด รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน

          สาเหตุอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น บุหรี่มือสอง มลพิษทางอากาศ รวมทั้งสารบางชนิด เช่น แร่ใยหิน สารหนู โครเมียม นิกเกิล น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น ควันไฟจากการเผาขยะ เผาป่า หรือกิจการทางการเกษตร ควันจากธูป การประกอบอาหาร และยาลูกกลอน หรือในสมุนไพรจีนบางชนิดที่มีสารหนูปนเปื้อนควรหลีกเลี่ยง


          สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งปอดคือ ไอเป็นเวลานาน อาการไม่ทุเลา หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีเสมหะปนเลือด

          เจ็บหน้าอก หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่) น้ำหนักลด ใบหน้า ลำคอ หรือแขนบวม รวมถึงเป็นโรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย

          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะที่ 2 และ 3 เมื่อได้รับการ รักษาอย่างทันท่วงทีสามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลา 3-6 เดือน ผู้ป่วยจะเสียชีวิต

          การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทำได้โดยการเอกซเรย์ การเจาะเลือดตรวจหามะเร็ง ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ถอดรหัสดีเอ็นเอเพื่อแยกสายพันธุ์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล ส่วนการรักษานั้นมีทั้งวิธีการผ่าตัด ฉายแสง ใช้เคมีบำบัด และการใช้ยายับยั้งยีนเพื่อการรักษาตามเป้าหมาย

          วิธีป้องกันให้ลมหายใจไร้มะเร็งปอดคือ 1. การป้องกันขั้น ปฐมภูมิ หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง 2. การป้องกันขั้นทุติยภูมิ หรือเมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งแล้ว ควรออกกำลังกายเพิ่มภูมิคุ้มกัน บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และ 3. การป้องกันขั้นตติยภูมิ ด้วยการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง

          การป้องกันโรคมะเร็งปอด ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสาร ก่อมะเร็งต่างๆ และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี การรักษา จะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

http://www.thaihealth.or.th/Content/24659-3%20%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%20%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%94.html

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล